วัยหมดระดู วัยหมดระดู หรือ วัยทอง เป็นภาวะธรรมชาติที่เกิดกับสตรีทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่สตรีจะเข้าสู่วัยหมดระดูในช่วงอายุ 45-56 ปี (เฉลี่ย 50-51 ปี) เราเข้าสู่วัยหมดระดูเมื่อไม่มีระดูมาเป็นเวลา 1 ปี


วัยหมดระดู วัยทอง

วัยหมดระดู หรือ วัยทอง เป็นภาวะธรรมชาติที่เกิดกับสตรีทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่สตรีจะเข้าสู่วัยหมดระดูในช่วงอายุ 45-56 ปี (เฉลี่ย 50-51 ปี) เราจะทราบว่าเราเข้าสู่วัยหมดระดูเมื่อไม่มีระดูมาเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีพยาธิสภาพใดๆที่เป็นสาเหตุของการขาดระดู ถึงแม้ว่าวัยหมดระดูจะเป็นธรรมชาติแต่ภาวะนี้ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสตรีวัยนี้ ถ้าได้รับการดูแลที่ถูกต้องจะช่วยทำให้สตรีวัยนี้เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทำไมสตรีจึงไม่มีระดูในวัยทอง?

ระดูเกิดจากการทำงานของรังไข่ ในแต่ละรอบเดือนรังไข่จะถูกกระตุ้นให้มีการเจริญของฟองไข่ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของสตรีและมีการผลิตฮอร์โมนสำคัญคือเอสโตรเจนและโปรเจสเตอร์โรน ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะไปกระตุ้นให้มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกและทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น

เมื่อมีการตกไข่รังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนซึ่งจะมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนหากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเกิดการหลุดลอกออกมาเป็นระดู

เมื่อสตรีมีอายุมากขึ้นการทำงานของรังไข่ในการผลิตฟองไข่และการสร้างฮอร์โมนจะลดลงไปเรื่อย ๆ และเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูการทำงานของรังไข่ก็จะหยุดลง จึงไม่มีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกและไม่มีการตกไข่จึงทำให้โพรงมดลูกบางและไม่มีระดู

ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีผลกระทบอะไรบ้าง?

นอกจากจะมีหน้าที่กระตุ้นการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีผลกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายอีกหลายระบบ ได้แก่ ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบสืบพันธุ์สตรี และเมตาบอลิซึม เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจจะมีอาการร้อนวูบวาบ ใจสั่น เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ รู้สึกวิตกกังวลหรือมีภาวะซึมเศร้า หลงลืมง่าย ทำให้มีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด เพิ่มภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นลดการเกาะของไขมันที่ผนังหลอดเลือด

ทำให้มวลกระดูกลดลงจนเกิดภาวะกระดูกบางกระดูกพรุน มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย ถ้าขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งขาดน้ำหล่อลื่น มีผลทำให้รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเพศและความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

ทำไมภาวะหมดระดูจึงต้องการการดูแลรักษา?

ถึงแม้ว่าสตรีหมดระดูบางคนไม่มีอาการร้อนวูบวาบ ใจสั่น เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจะสามารถดูแลตนเองได้เบื้องต้น เช่น สวมเสื้อผ้าบางเบาสบายๆ อยู่ในที่อากาศโปร่งไม่ร้อนอบอ้าว งดอาหารเผ็ดร้อน ทำงานอดิเรกหรือการทำสมาธิเพื่อลดความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า แต่ในสตรีหมดระดูบางรายมีอาการดังกล่าวค่อนข้างมาก หรือมีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์จากภาวะช่องคลอดแห้ง จำเป็นต้องได้รับการรักษาไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนหรือยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน นอกจากนี้การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีผลเพิ่มอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะกระดูกบางกระดูกพรุนซึ่งไม่ปรากฎอาการเตือนล่วงหน้า แต่จะเกิดกระดูกหักได้ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง เราสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกบางกระดูกพรุนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถให้การป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนการใช้ฮอร์โมนทดแทนและการรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริม

แนวทางในการดูแลตนเองเบื้องต้น

สตรีหมดระดูสามารถดูแลตนเองเบื้องต้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นเพื่อลดอาการต่างๆ  และควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในสตรีหมดระดูต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แคลเซียมมีมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย

ในอาหารของคนไทยทั่วไปมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 300-400 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งไม่พอกับความต้องการในแต่ละวัน จึงควรรับประทานแคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน และควรเสริมวิตามินดีในรายที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ เพราะวิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารและช่วยในการเก็บสะสมแคลเซียมในมวลกระดูก

นอกจากนี้ยังควรลดอาหารจำพวกแป้งและไขมัน ควบคุมน้ำหนัก งดคาเฟอีน งดบุหรี่ หรือสารต่างๆที่มีผลลดมวลกระดูก สตรีหมดระดูควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มพูนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนัก เพิ่มความกระฉับกระเฉง ช่วยลดไขมันในเลือดและช่วยลดการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกาย

แพทย์จะให้การดูแลเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง?

การตรวจคัดกรองสุขภาพและโรคประจำตัว วัดดัชนีมวลกาย ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจมวลกระดูก ตรวจแมมโมแกรมหรืออัตราซาวน์เต้านม สอบถามอาการต่างๆและความรุนแรงของอาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดระดูเพื่อประเมินความจำเป็นในการรักษา ตรวจสอบข้อบ่งชี้และข้อบ่งห้ามของการให้ฮอร์โมน

ตลอดจนตรวจติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ ให้วิตามินและเกลือแร่เสริม เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกท่านเป็นสตรีหมดระดูที่มีสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี